กำหนดจัดงานประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปีระยะเวลา
๕ วัน บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลหลังสวน และบริเวณใกล้เคียง
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ผลผลิตทางการเกษตร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ของอำเภอหลังสวน มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่
การประกวดผลไม้ต่างๆ การประกวดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ต่างๆ การจัดตลาดนัดผลไม้
การประกวดพฤกษชาติ และมหรสพต่างๆ มากมาย
วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2561
งานโลกทะเลชุมพร
กำหนดจัดงานระหว่างเดือนกุมภาพันธ์
ถึงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพร
เพื่อกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น กิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การแข่งขันตกปลา
การประกวดภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยว การจัดนิทรรศการแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ
เป็นประเพณีเก่าแก่ของอำเภอหลังสวน
ซึ่งมีมากกว่า ๑๐๐ ปี โดยมีความเชื่อว่าในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาสู่เมืองสังกัดสะ
ในชมพูทวีปพุทธศาสนิกชน จึงเดินทางไปรับเสด็จเป็นจำนวนมาก
ซึ่งการเดินทางที่สะดวกในสมัยนั้นคือ ทางน้ำ จึงมีโอกาสพบปะสังสรรค์ซึ่งกันและกัน
ต่อมาจึงเกิดเป็นประเพณีแห่พระแข่งเรือ ดังนั้น
งานแห่พระแข่งเรือของอำเภอหลังสวนจึงเริ่มงานตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
ของทุกปี
ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น
ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดชุมพร มีการจัดงานประเพณีที่เป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมาเป็นเวลาอันยาวนานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ด้านวัฒนธรรมและสังคมของชุมชน โดยมีการจัดงานประเพณีที่สำคัญๆ ดังนี้
งานเทิดพระเกียติเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และงานกาชาด
กำหนดจัดในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวจังหวัดชุมพร
และประชาชนทั่วไป
สถานที่ที่น่าสนใจในจังหวัดชุมพร
สถานที่ที่น่าสนใจในจังหวัดชุมพร
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร
เป็นอาคาร 2 ชั้น มีลักษณะการผสมผสานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคใต้และสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเข้าด้วยกัน
ทำให้มีลักษณะโดดเด่นและทันสมัย ภายในประกอบด้วย ห้องสมุด ห้องประชุม
ห้องอเนกประสงค์ สำนักงาน คลังเก็บโบราณวัตถุศิลปวัตถุ
ร้านจำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก โดยห้องจัดนิทรรศการถาวร แบ่งตามเนื้อหาเป็น 8
หัวข้อ ได้แก่
1.ชุมพรวันนี้
เป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลจังหวัดชุมพรในปัจจุบัน
2.สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในชุมพร
มีหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ภายในจังหวัดชุมพร เคยมีการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา
3.พัฒนาการแรกเริ่มประวัติศาสตร์
แสดงถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนในชุมพร
ช่วงปลายสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนก่อให้เกิดการพัฒนาในชุมชนโบราณ
4.สมัยประวัติศาสตร์ในชุมพร
ในยุคประวัติศาสตร์
มีเพียงตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชที่ระบุว่าชุมพรเป็นเมืองบริวารในกลุ่มเมือง
12 นักษัตรของนครศรีธรรมราช และใช้ตราแพะเป็นสัญลักษณ์
และเริ่มปรากฏอีกครั้งในสมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
5.ชุมพรกับสงครามโลกครั้งที่
2 และวีรกรรมของยุวชนทหาร นำเสนอเนื้อหาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
6.ชุมพรกับการเป็นเมืองในเส้นทางผ่านของพายุไต้ฝุ่น
นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดชุมพร
ทีมีความแปรปรวนในช่วงฤดูฝนเสมอนับตั้งแต่สมัยอดีต
7.ธรรมชาติวิทยาและมรดกดีเด่นของจังหวัดชุมพร
8.พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ นำเสนอประวัติโดยย่อของกรมหลวงชุมพรฯ เช่น
ประวัติราชสกุล การสร้างคุณูปการแก่เมืองชุมพรและกองทัพเรือไทย
ประวัติการก่อตั้งกิจการกองทัพเรือ เป็นต้น
ประวัติความเป็นมาจังหวัดชุมพร
จังหวัดชุมพรมีชื่อปรากฏตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1098 ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับของหอสมุดแห่งชาติ โดยมีความว่า
เมืองชุมพรนั้นมีฐานะเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช
ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง เป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือเพราะอยู่ทางตอนบนของภาคใต้
การเดินทางโดยทางบกจำเป็นต้องผ่านเมืองชุมพร ในปีพุทธศักราช 1997
แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถปรากฏในกฎหมายตราสามดวงว่า
เมืองชุมพรเป็นเมืองตรีอาณาจักรฝ่ายใต้ของกรุงศรีอยุธยาจนถึงพุทธศักราช 2459
จึงมีฐานะเป็นจังหวัดในมณฑลสุราษฏร์ธานี
คำว่า “ชุมพร” ตามอักษรแยกได้เป็น 2 คำ คือ คำว่า “ชุม” ซึ่งมีความหมายว่า รวม,ชุก,มาก,รวมกันอยู่ และคำว่า “พร” ซึ่งมีความหมายว่า ของดี,ของที่เลือกเอา,ของประเสริฐ ดังนั้นคำว่าชุมพร
ถ้าแปลตามตัวอักษร ก็จะได้ความหมายว่า เป็นที่รวบรวมของประเสริฐ
แต่ชื่อเมืองชุมพรนั้นไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร
ประการแรก
เชื่อกันว่าชุมพรนั้นมาจากคำว่า “ประชุมพล” หรือ “ชุมนุมพล” ซึ่งแปลได้ว่า “รวมกำลัง” เนื่องจากในสมัยก่อนชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านทางภาคใต้
และกองทัพมักจะมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองเมืองชุมพร
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการรบกับพม่าหรือปราบกบฏภายในราชอาณาจักรก็ตาม
เมื่อยกทัพหลวงมาครั้งใด เมืองชุมพรก็จะต้องเป็นที่ชุมนุมพลหรือชุมนุมกองทัพเสมอ
คำว่าชุมพรจึงเป็นไปได้ว่าเกิดจากการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่าประชุมพล
เพราะคนไทยทางใต้ชอบพูดคำสั้นๆ จึงตัดคำว่าประออกเสีย เหลือแค่ “ชุมพล” และคำว่าพลก็เพี้ยนกลายมาเป็นคำว่า “พร” แทน ซึ่งตามธรรมดา
ชื่อเมืองหรือตำบลมักจะถูกเรียกเพี้ยนไปจากเดิมเสมอ
อย่างไรก็ดีเมืองชุมพรนับว่าเป็นเมืองที่สำคัญทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัย โบราณ
ดังนั้นจากคำว่าประชุมพลจึงมีความหมายตรงกับประวัติศาสตร์ของเมืองที่ว่า
เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์
ประการที่สอง
ในการเดินทางไปรบทัพจับศึกของแม่ทัพนายกองตั้งแต่สมัยโบราณ
เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีส่งทัพโดยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ได้
รับชัยชนะในการสู้รบ เพื่อเป็นการบำรุงขวัญทหาร
ในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้จึงตรงกับความหมายชุมนุมพร หรือประชุมพร
ซึ่งทั้งสองคำนี้อาจเป็นต้นเหตุของคำว่า “ชุมพร” เช่นเดียวกัน
ประการที่สาม
เนื่องจากที่ตั้งเมืองเดิมนั้นอยู่ทางฝั่งขวาของคลองชุมพร
ซึ่งมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า “มะเดื่อชุมพร” ขึ้นอยู่ทั่วไป
เดิมคลองนี้ยังไม่มีชื่อภายหลังจึงถูกตั้งชื่อว่าคลองชุมพรตามชื่อต้นไม้
เพราะปกติการตั้งชื่อท้องที่หรือแม่น้ำลำคลองมักจะตั้งตามชื่อต้นไม้หรือ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ ณ ที่แห่งนั้น
ต่อมาเมืองที่มาตั้งจึงมีชื่อตามต้นไม้ไปด้วย เช่นเดียวกับชื่อชุมพร
อาจเรียกตามชื่อหรือคลองหรือชื่อต้นไม้ก็เป็นได้
ปากน้ำชุมพร
ปากน้ำชุมพรหรือปากแม่น้ำตะเภา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต ที่นักท่องเที่ยวได้เห็นวิถีชีวิตของชาวประมงที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้
บริเวณริมปากอ่าวจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวประมงทั้งหลาย ทั้งยังมีท่าเทียบเรือประมง ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดชุมพร ทั้งยังเป็นแหล่งซื้อของทะเล ส่วนทางฝั่งขวาของปากน้ำชุมพรยังมีชายหาดที่สวยงาม และเป็นแหล่งรวมร้านอาหารทะเลอร่อยๆ อยู่หลายร้าน รวมทั้งรีสอร์ตและที่พักหลายแห่ง สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาค้างคืนบริเวณริมหาดปากน้ำชุมพร หรือถ้าใครไม่ต้องการค้างแต่อยากเล่นน้ำ ก็มียังมีที่อาบน้ำจืดให้บริการเช่นกัน
นอกจากนี้ หากนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางไปเที่ยวเกาะต่างๆ อย่าง เกาะเสม็ด เกาะมัตรา หรือเกาะตังกวย ซึ่งเป็นแหล่งหอยมือเสือ ที่นี่ก็มีเรือคอยบริการพาไปชมความสวยงามของเกาะเหล่านี้อีกด้วย
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)