วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2561

ประวัติความเป็นมาจังหวัดชุมพร


จังหวัดชุมพรมีชื่อปรากฏตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1098 ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับของหอสมุดแห่งชาติ โดยมีความว่า เมืองชุมพรนั้นมีฐานะเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง เป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือเพราะอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ การเดินทางโดยทางบกจำเป็นต้องผ่านเมืองชุมพร ในปีพุทธศักราช 1997 แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถปรากฏในกฎหมายตราสามดวงว่า เมืองชุมพรเป็นเมืองตรีอาณาจักรฝ่ายใต้ของกรุงศรีอยุธยาจนถึงพุทธศักราช 2459 จึงมีฐานะเป็นจังหวัดในมณฑลสุราษฏร์ธานี
คำว่า ชุมพรตามอักษรแยกได้เป็น 2 คำ คือ คำว่า ชุมซึ่งมีความหมายว่า รวม,ชุก,มาก,รวมกันอยู่ และคำว่า พรซึ่งมีความหมายว่า ของดี,ของที่เลือกเอา,ของประเสริฐ ดังนั้นคำว่าชุมพร ถ้าแปลตามตัวอักษร ก็จะได้ความหมายว่า เป็นที่รวบรวมของประเสริฐ แต่ชื่อเมืองชุมพรนั้นไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร
ประการแรก เชื่อกันว่าชุมพรนั้นมาจากคำว่า ประชุมพลหรือ ชุมนุมพลซึ่งแปลได้ว่า รวมกำลังเนื่องจากในสมัยก่อนชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านทางภาคใต้ และกองทัพมักจะมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองเมืองชุมพร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการรบกับพม่าหรือปราบกบฏภายในราชอาณาจักรก็ตาม เมื่อยกทัพหลวงมาครั้งใด เมืองชุมพรก็จะต้องเป็นที่ชุมนุมพลหรือชุมนุมกองทัพเสมอ คำว่าชุมพรจึงเป็นไปได้ว่าเกิดจากการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่าประชุมพล เพราะคนไทยทางใต้ชอบพูดคำสั้นๆ จึงตัดคำว่าประออกเสีย เหลือแค่ ชุมพลและคำว่าพลก็เพี้ยนกลายมาเป็นคำว่า พรแทน ซึ่งตามธรรมดา ชื่อเมืองหรือตำบลมักจะถูกเรียกเพี้ยนไปจากเดิมเสมอ อย่างไรก็ดีเมืองชุมพรนับว่าเป็นเมืองที่สำคัญทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัย โบราณ ดังนั้นจากคำว่าประชุมพลจึงมีความหมายตรงกับประวัติศาสตร์ของเมืองที่ว่า เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์
ประการที่สอง ในการเดินทางไปรบทัพจับศึกของแม่ทัพนายกองตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีส่งทัพโดยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ได้ รับชัยชนะในการสู้รบ เพื่อเป็นการบำรุงขวัญทหาร ในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้จึงตรงกับความหมายชุมนุมพร หรือประชุมพร ซึ่งทั้งสองคำนี้อาจเป็นต้นเหตุของคำว่า ชุมพรเช่นเดียวกัน
ประการที่สาม เนื่องจากที่ตั้งเมืองเดิมนั้นอยู่ทางฝั่งขวาของคลองชุมพร ซึ่งมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า มะเดื่อชุมพรขึ้นอยู่ทั่วไป เดิมคลองนี้ยังไม่มีชื่อภายหลังจึงถูกตั้งชื่อว่าคลองชุมพรตามชื่อต้นไม้ เพราะปกติการตั้งชื่อท้องที่หรือแม่น้ำลำคลองมักจะตั้งตามชื่อต้นไม้หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ต่อมาเมืองที่มาตั้งจึงมีชื่อตามต้นไม้ไปด้วย เช่นเดียวกับชื่อชุมพร อาจเรียกตามชื่อหรือคลองหรือชื่อต้นไม้ก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น